ฟาร์มไก่ไข่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Farm)

ปัจจุบันการเลี้ยงสัตว์ในประเทศไทยตามรูปแบบปัจจุบันส่วนใหญ่จะเป็นระบบเปิดที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งในด้านคุณภาพอากาศ เสียง น้ำเสีย และความเดือดร้อนรำคาญจากการเป็นบ่อเกิดของแมลงพาหะนำโรคต่าง ๆ ทั้งยุง แมลงวัน หนู แมลงสาป เป็นต้น การเลี้ยงสัตว์ในรูปแบบใหม่จึงพยายามหาแนวทางในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมดังกล่าว โดยนำแนวคิดในลักษณะกรีนฟาร์ม (Green Farm) ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาประยุกต์ใช้ ดังตัวอย่างของฟาร์มไก่ไข่ ทำให้ในปัจจุบันเระบบดังกล่าวได้ถูกเผยแพร่และนำไปใช้อย่างกว้างขวางมากขึ้น

รูปแบบของกรีนฟาร์มเริ่มจากหลักคิดในการสร้างระบบแบบปิด (ภาพที่ 1) แทนที่ระบบเปิดในรูปแบบเดิมการสร้างโรงเรือนจะเป็นแบบปิดทึบรอบด้านที่เรียกว่า ระบบอีแวป (Evaporative Cooling System: EVAP) ตั้งแต่พื้นโรงเรือนถึงหลังคา ส่วนผนังรอบด้านโรงเรือนจะใช้ผ้าใบปิดทึบที่สามารถปรับขึ้นลงได้ (ภาพที่ 2) เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของมลภาวะต่าง ๆ ในขณะที่เลี้ยงสัตว์ผ้าใบจะปิดทึบทั้งหมด ยกเว้นกรณีไฟฟ้าดับที่สามารถเปิดผ้าใบให้อากาศถ่ายเทได้ ด้านข้างโรงเรือนจะมีห้องควบคุมในการควบคุมระบบ (ภาพที่ 3) โดยผู้ปฏิบัติงานไม่จำเป็นต้องเข้าไปภายในโรงเรือน เพราะจะมีกล้องวงจรปิดดูการเปลี่ยนแปลงภายในโรงเรือนที่เห็นภาพได้ ภายในกรงไก่ไข่จะสามารถวางซ้อนกันเป็นชั้น ๆ เพื่อให้สามารถเลี้ยงไก่ไข่ได้เป็นจำนวนมากในโรงเรือน (ภาพที่ 4) แต่ละกรงจะบรรจุไก่ไข่ได้ตั้งแต่ 2-4 ตัวตามขนาดของกรง ระบบการให้น้ำ จะเป็นระบบจิกเพื่อป้องกันน้ำไหลล้น โดยไก่จะใช้วิธีการจิกกินน้ำนั้น (ภาพที่ 5) และสามารถผสมยาเพื่อการรักษาหรือวิตามินลงไปในน้ำตั้งแต่ถังผสมน้ำได้ด้วย (ภาพที่ 6) ระบบการให้อาหารจะเป็นระบบระบบการปล่อยอาหารอัตโนมัติตั้งแต่ต้นโรงเรือนไปท้ายโรงเรือน (ภาพที่ 7) การปล่อยอาหารจะปล่อยตามระยะเวลาที่ได้ตั้งไว้ รวมทั้งปริมาณการให้อาหารต่อวัน ระบบการเก็บไข่จะเป็นสายพานลำเลียงจากหน้ากรงไก่ไข่มาที่ต้นโรงเรือน (ภาพที่ 8) เพื่อเก็บรวบรวมแบบอัตโนมัติ (ภาพที่ 9) จนไปสู่ระบบการตัดแยกขนาดไข่ ระบบการเก็บมูลสัตว์จะเป็นแบบการกวาดใต้พื้นโรงเรือน (ภาพที่ 10) โดยการตั้งระบบอัตโนมัติเพื่อกวาดมูลไก่ไข่ไปสู่ท้ายโรงเรือน เพื่อลงสู่บ่อกักเก็บมูลสัตว์ (ภาพที่ 11) ในบ่อกักเก็บจะมีระบบการหมักมูลสัตว์เพื่อผลิตเป็นแก๊สมีเทน ส่งกลับมาป้อนตัวผลิตกระแสไฟฟ้า (Generator) (ภาพที่ 12) เพื่อให้สามารถใช้ป้อนกลับไปในระบบของฟาร์มได้ การไหลเวียนของระบบอากาศภายในโรงเรือน จะใช้พัดลมขนาดใหญ่ตั้งอยู่บริเวณท้ายโรงเรือน (ภาพที่ 13) เป็นการดูดอากาศจากภายในโรงเรือนออกไปสู่ภายนอก ส่วนอากาศใหม่จะถูกดูดผ่านระบบแผ่นหล่อเย็น (Cooling Pad) ที่ติดอยู่ที่ผนังบริเวณบริเวณด้านหน้าโรงเรือน (ภาพที่ 14) ทำให้อากาศที่เข้าไปภายในโรงเรือนนอกจากจะสะอาดแล้ว ยังเป็นอากาศที่มีความเย็นจากการผ่านระบบแผ่นหล่อเย็น ทำให้อุณหภูมิภายในอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับความต้องการของไก่ไข่ ระบบการตรวจสุขภาพสัตว์ จะใช้วิธีการสแกนเพื่อตรวจอุณหภูมิของตัวสัตว์ (ภาพที่ 15) ถ้าอุณหภูมิของสัตว์กรงใดผิดปกติ จะมีการส่งรายงานมาที่ห้องควบคุม เพื่อเข้าไปตรวจรักษาและแก้ไขปัญหา ก่อนที่โรคจากอาการเจ็บป่วยจะลุกลาม ระบบทั้งหมดในห้องควบคุม สามารถเชื่อมต่อการควบคุมผ่านมาที่ระบบโทรศัพท์สมาร์ทโฟน เพื่อการสั่งการในกรณีมีเหตุการณ์เร่งด่วนหรือกรณีผู้ปฏิบัติงานไม่ได้อยู่ประจำการที่ฟาร์ม ทั้งหมดคือรูปแบบการปฏิบัติการแบบกรีนฟาร์มหรือบางท่านอาจเรียกว่า สมาร์ทฟาร์ม เพราะมีการเชื่อมโยงกับระบบสมาร์ทโฟนเข้าไปด้วย

Facebook
Twitter
LinkedIn