เกษตรอินทรีย์วิถีสู่ความยั่งยืน หรือ เกษตรอินทรีย์วิถียั่งยืน

จากยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ที่มุ่งเน้นสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน เพื่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในรูปแบบใหม่ ภาคอุตสาหกรรมจึงเป็นเป้าหมายหนึ่งในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยภาคตะวันออกของประเทศไทยเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) เป็นพื้นที่ที่มีโครงสร้างพื้นฐานที่ตอบสนองทุกรูปแบบในการดำรงชีวิต และนิคมอุตสาหกรรมหรือเขตอุตสาหกรรม ที่เป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรม การลงทุน สถานที่ท่องเที่ยว และเป็นฐานอุตสาหกรรมด้านพลังงาน ที่สำคัญของประเทศ โดยพื้นที่ 3 จังหวัดกลุ่มเป้าหมาย คือ ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา ซึ่งมีความพร้อมในด้านทำเลที่ตั้ง ฐานการผลิตขนาดใหญ่ การคมนาคมหลากหลายรูปแบบ และเป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยวระดับโลก ทำให้มีศักยภาพในการเติบโตด้านการลงทุนและการขยายตัวของเมืองและประชากรอย่างต่อเนื่องทำให้ความต้องการผลผลิตทางการเกษตรทั้งสำหรับการบริโภคภายในประเทศและส่งออกต่างประเทศมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น เกษตรกรและผู้ประกอบการต้องมีการแข่งขันและเร่งพัฒนาผลผลิตของตนให้เข้าสู่ระบบตลาดได้อย่างทั่วถึงทำให้เกษตรกรหันไปใช้สารเคมีทางเกษตรเพื่อผลักดันผลผลิตให้มีคุณภาพ มีความสมบูรณ์ และป้องกันแก้ไขปัญหาโรคและแมลงศัตรูพืชที่จะก่อให้เกิดความเสียหายกับผลผลิตของเกษตรกร จึงแสดงให้เห็นว่า พฤติกรรมการใช้สารเคมีของเกษตรกรมีแนวโน้มที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องเพราะต้องการให้ผลผลิตเพียงพอต่อความต้องการของตลาดสามารถแข่งขันกับเกษตรกรรายอื่นได้ โดยต่อสู้กับภาวะปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและความผันผวนของระบบเศรษฐกิจเพื่อให้ดำรงอยู่ได้จนเกิดเป็นผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมในรูปแบบของการสิ้นเปลืองพลังงานจากการใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตร อันตรายจากการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีกำจัดศัตรูพืชชนิดต่างๆ ที่เสี่ยงก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรังทั้งต่อตัวเกษตรกรผู้สัมผัสใกล้ชิดหรืออาจปนเปื้อนออกไปสู่ผู้บริโภคหรืออาจเกิดสารตกค้างในสิ่งแวดล้อม เช่น มลพิษในดิน มลพิษในแหล่งน้ำ เกิดเป็นปัญหามลพิษต่างๆ จนกระทั่งส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในวงกว้างต่อไปได้

Facebook
Twitter
LinkedIn