Menu
กลับสู่หน้าหลัก
ปีที่เผยแพร่
หมวดหมู่
ผู้แต่ง
Author
ชื่อเรื่อง
การบังคับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรณีศึกษา: เทศบาลตำบลมะขามคู่ อำเภอนิคมพัฒนา จังหวัดระยอง
บทคัดย่อ
การศึกษาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากฎหมายสิ่งแวดล้อม ขั้นตอนการบังคับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อม ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คือ เทศบาลตำบลมะขามคู่ อำเภอนิคมพัฒนา จังหวัดระยอง เพื่อเสนอแนะแนวทางที่เหมาะสมในการบังคับใช้กฎหมายในการจัดการสิ่งแวดล้อม เป็นการศึกษาโดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้าง (Semi-structure interviews) ผู้บริหารเทศบาลตำบลมะขามคู่ เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานภาครัฐที่มีความเกี่ยวข้องกับกฎหมายสิ่งแวดล้อม ตัวแทนจากสถานประกอบการภาคอุตสาหกรรม และตัวแทนจากภาคประชาชน ร่วมกับการวิจัยด้านเอกสาร (Documentary Research) และการสังเกตแบบมีส่วนร่วม (Participant Observation) จากนั้นนำข้อมูลมาวิเคราะห์ โดยวิธีการ SWOT Analysis เพื่อประเมินและวิเคราะห์สภาพแวดล้อม ภายในและภายนอกองค์กรถึงจุดแข็ง (Strength) จุดอ่อน (Weaknesses) โอกาส (Opportunities) อุปสรรค(Threats) เพื่อนำมาจับคู่เป็นกลยุทธ์ในรูปแบบต่างๆที่ได้จากกระบวนการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายนอก และภายในขององค์กร โดยที่สามารถแบ่งรูปแบบการจับคู่กลยุทธ์ ของ TOWS ออกเป็น กลยุทธ์เชิงรุก (SO) กลยุทธ์เชิงแก้ไข (WO) กลยุทธ์เชิงรับ (ST) และกลยุทธ์ เชิงป้องกัน (WT) รวมทั้งประเมินและคัดเลือกว่ากลยุทธ์ใดเหมาะสมกับการบังคับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมของเทศบาลตำบลมะขามคู่มากที่สุด ผลการศึกษาแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1) ความรู้เรื่องกฎหมาย : พบว่าการมีความรู้เกี่ยวกับกฎหมายสิ่งแวดล้อม ยังจำกัดอยู่ในส่วนของเจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐ ส่วนของภาคอุตสาหกรรม มีความรู้เฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงาน คือ พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติมจนถึงปัจจุบัน ส่วนภาคประชาชน ยังไม่มีความรู้เรื่องกฎหมายสิ่งแวดล้อม 2) การบังคับใช้กฎหมาย: เทศบาลตำบลมะขามคู่มีการบังคับใช้กฎหมายด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม โดยการออกเทศบัญญัติเฉพาะในเรื่องต่าง ๆ เพื่อการออกใบอนุญาต การดูแลรักษาความสะอาด การจัดการด้านสิ่งแวดล้อมหรือการออกคำสั่งระงับเหตุเดือดร้อนรำคาญ โดยเจ้าพนักงานท้องถิ่น กรณีที่ทราบต้นเหตุหรือสาเหตุการกระทำผิดที่ชัดเจน แต่จะขาดความเป็นเอกภาพในการตัดสินใจหรือการออกคำสั่ง เมื่อเป็นการกระทำหรือสาเหตุที่มาจากสถานประกอบการภาคอุตสาหกรรม โรงงานขนาดใหญ่ หรือเหตุการณ์ที่มีผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพของประชาชน และมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง เนื่องจากมีกฎหมายสิ่งแวดล้อมหลายฉบับและมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน จากการวิจัย พบว่าเทศบาลตำบลมะขามคู่ ควรมีการประเมินภาระงานต่อจำนวนบุคลากร ตามกรอบอัตรากำลังที่จำเป็นต่อการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อให้มีศักยภาพในการนำกฎหมายมาบังคับใช้ และสนับสนุนให้มีการศึกษาหรืออบรมเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อม จัดให้มีการทำคู่มือหรือช่องทางการประชาสัมพันธ์ เกี่ยวกับกฎหมายสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ทั้งภาคประชาชนและภาคอุตสาหกรรม มีความรู้ความเข้าใจ เรื่องของการบังคับใช้กฎหมายมากขึ้น ส่งเสริมด้านการมีส่วนร่วมจากประชาชน รวมถึงสนับสนุนให้มีการทำงานด้านสิ่งแวดล้อมในลักษณะภาคีเครือข่าย เพื่อทำความเข้าใจ บทบาทภารกิจอำนาจหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในลักษณะการบูรณาการการบังคับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมแต่ละฉบับ ที่มีผลต่อการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ส่งผลให้เกิดประโยชน์ต่อการจัดการสิ่งแวดล้อมต่อไป