การปรับตัวของชุมชนต่อปัญหาความขัดแย้งคนกับช้างป่า ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาชะเมา-เขาวง
Community adaptation to human and wild elephants conflict problem in Khao Chamao-Khao Wong National Park area
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสถานการณ์ความขัดแย้งคนกับช้างป่า สาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหา ผลกระทบที่เกิดขึ้นและแบบแผนการปรับตัวของชุมชนต่อปัญหาความขัดแย้งคนกับช้างป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาชะเมา-เขาวง อำเภอเขาชะเมา จังหวัดระยอง ซึ่งวิธีการศึกษาใช้การสัมภาษณ์เชิงลึกกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาความขัดแย้งคนกับช้างป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาชะเมา-เขาวง 18 ราย หน่วยงานการปกครองส่วนภูมิภาค 10 ราย หน่วยงานการปกครองส่วนท้องถิ่น 3 ราย และหน่วยงานอุทยานแห่งชาติเขาชะเมา-เขาวง 3 ราย รวมผู้สัมภาษณ์ทั้งหมด 34 ราย ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่าสถานการณ์ความขัดแย้งคนกับช้างป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาชะเมา-เขาวง เริ่มทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ปีพ.ศ.2545 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งสาเหตุสำคัญได้แก่ การขยายพื้นที่เพื่อทำการเกษตรทับซ้อนกับอาณาเขตของช้างป่า การเพิ่มขึ้นและการเคลื่อนย้ายถิ่นของช้างป่า แหล่งน้ำและแหล่งอาหาร สาเหตุดังกล่าวทำให้เกิดความขัดแย้งคนกับช้างป่าและชุมชนได้รับผลกระทบโดยตรงจากช้างป่าที่เข้ามากินหรือทำลายพืชผลทางการเกษตรเกิดความความสูญเสียทั้งทางเศรษฐกิจและการสูญเสียโอกาสในเชิงสังคมในหลายรูปแบบเช่น การดำรงชีวิตด้วยความหวาดระแวงและการได้รับอันตรายในการเดินทางไปทำงาน ช้างป่าได้รับอันตรายจากการเข้าไปบุกรุกพื้นที่เกษตร ผลกระทบดังกล่าวนั้นหลายหน่วยงานร่วมกันแก้ไขปัญหาจัดทำแหล่งน้ำและฟื้นฟูแหล่งอาหารให้ช้างป่า สอนเทคนิคและการป้องกันการบุกรุกของช้างป่าไม่ให้เข้าพื้นที่เกษตรกรรม รวมถึงการช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายทั้งจากตามระเบียบการเบิกจ่ายกระทรวงการคลังและจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากช้างป่า แต่ปัญหาความขัดแย้งคนกับช้างป่ายังคงมีอยู่ และเนื่องจากพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาชะเมา-เขาวงเป็นเขตพื้นที่รอยต่อ 5 จังหวัดในภาคตะวันออก ซึ่งมีคณะกรรมการโครงการอนุรักษ์ช้างป่ารอยต่อ 5 จังหวัดในภาคตะวันออกได้ดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาช้างป่า ปี 2561-2565 เพื่อให้ชุมชนสามารถประกอบอาชีพและอยู่ร่วมกับช้างป่าได้อย่างสมดุล แต่การดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการดังกล่าวพบว่ายังมีข้อจำกัดในการแก้ไขปัญหาและต้องใช้ระยะเวลานานในการดำเนินงานซึ่งชุมชนยังได้รับผลกระทบจากปัญหาความขัดแย้งคนกับช้างป่าอย่างต่อเนื่อง ชุมชนจำเป็นต้องมีการปรับตัวต่อปัญหาความขัดแย้งคนกับช้างป่าเพื่อความอยู่รอดและปลอดภัย การปรับตัวของชุมชนต่อปัญหาความขัดแย้งคนกับช้างป่าจำแนกได้ 3 แบบแผน แบบแผนที่1 การปรับตัวแบบมุ่งเน้นที่ปัญหาเชิงป้องกัน ใช้สิ่งกีดขวางต่างๆ ควบคู่กับการป้องกันแบบการต้อนกลับ และการปรับเปลี่ยนการปลูกพืช แบบแผนที่2 การปรับตัวแบบมุ่งเน้นที่ปัญหาเชิงนิเวศ สร้างแหล่งอาหารและแหล่งน้ำให้กับช้างป่า การทดลองปลูกหญ้าเนเปียร์เพื่อให้ช้างป่าลงมากินหญ้า ใกล้ๆแนวขอบป่าและไม่ออกมาบุกรุกพื้นที่ของเกษตรกร และการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ด้านการอนุรักษ์ช้างป่า และแบบแผนที่ 3 การปรับตัวแบบมุ่งเน้นการใช้กลไกทางจิต มองปัญหาในมุมบวกเพื่อช่วยลดความเครียดและความวิตกกังวลและคิดว่าชุมชนสามารถอยู่ร่วมกับช้างป่าได้ และการกลไกทางจิตที่มองปัญหาในมุมลบโดยคิดว่าช้างเป็นสัตว์อันตรายและสร้างความเสียหายแก่ชุมชน ทำให้ผู้ที่ใช้กลไกทางจิตมองปัญหาในมุมลบเหล่านี้เกลียดช้างป่าคิดว่าชุมชนไม่สามารถยู่ร่วมกับช้างป่าได้ แบบแผนการปรับตัวของชุมชนทั้งสามแบบแผนนี้ มีทั้งข้อดีและข้อเสียต่อชุมชนและช้างป่าแตกต่างกัน ซึ่งยังไม่สามารถใช้ในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าได้อย่างสมดุลและยั่งยืน แต่แบบแผนการปรับตัวของชุมชนเหล่านี้ช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งทางด้านทรัพย์สิน ร่างกายและทางด้านจิตใจของชุมชน การศึกษานี้จึงมีข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานภาครัฐคือ ควรมีการศึกษาอย่างเป็นระบบเกี่ยวกับสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา การแก้ไขปัญหาเชิงระบบ การรับรู้ความเสี่ยงของชุมชน และควรมีการวางแผนร่วมกันระหว่างชุมชนและหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่รอยต่อของจังหวัดที่ใกล้เคียงร่วมกัน ไม่ควรแก้ไขเฉพาะจังหวัดใดจังหวัดหนึ่งเท่านั้น เพราะในพื้นที่ที่อยู่ติดกันแต่นอกเขตพื้นที่การปกครองอาจได้รับผลกระทบตามมาได้