การวิเคราะห์ศักยภาพการผลิตและการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน พื้นที่อำเภอเกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี
ANALYSIS OF POTENTIAL PRODUCTION AND USE OF ELECTRICITY FROM RENEWABLE ENERGY KOH-SICHANG DISTRICT, CHONBURI PROVINCE
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาศักยภาพพลังงานทดแทนสำหรับผลิตพลังงานไฟฟ้าใช้ในชุมชน ปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จในการผลิตและการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน พร้อมทั้งเสนอแนวทางการพัฒนาการผลิตและการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน โดยแบ่งการวิจัยออกเป็น 2 ส่วน คือ 1) การสัมภาษณ์ผู้บริหารระดับนโยบาย จำนวน 3 หน่วยงาน ได้แก่ พลังงานจังหวัดชลบุรี นายกเทศมนตรีตำบลเกาะสีชัง และผู้จัดการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคสาขาย่อยเกาะสีชัง 2) การสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อำเภอเกาะสีชัง ด้วยแบบสอบถาม จำนวน 332 ตัวอย่าง ประมวลผลข้อมูลในลักษณะของการวิจัยเชิงคุณภาพ และการวิจัยเชิงปริมาณ รวมถึงทบทวนข้อมูลจากเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรค ตามแนวทาง SWOT Analysis & TOWS Matrix ผลการศึกษา พบว่า กลุ่มประชาชนตัวอย่างที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อำเภอเกาะสีชังคิดว่าพลังงานแสงอาทิตย์มีความเหมาะสมที่จะใช้ในการผลิตไฟฟ้ามากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 58.2 รองลงมาคือ พลังงานขยะ คิดเป็นร้อยละ 20.2 ปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จในการผลิตและการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ได้แก่ การได้รับความสนับสนุนจากรัฐบาล ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน มีงบประมาณในการดำเนินการ การประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชน มีการวางแผนการดำเนินการที่ดี และมีต้นทุนทางพลังงานทดแทน แนวทางในการดำเนินการผลิตและใช้ไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน พื้นที่อำเภอเกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี ระยะเร่งด่วน คือ 1) การผลักดันให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำให้เกิดการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนอย่างเป็นรูปธรรม ให้สอดคล้องตามนโยบายด้านพลังงานของประเทศ 2) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคสาขาย่อยเกาะสีชัง ต้องเริ่มทดลองติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ภายในบริเวณพื้นที่ของโรงไฟฟ้าในปัจจุบัน ในลักษณะของการติดตั้งบนหลังคาของอาคารสำนักงานทั้งหมดและพื้นที่ว่างเปล่าภายในเขตที่ดินของการไฟฟ้าฯ 3) รณรงค์และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในเกาะสีชัง ติดตั้งแผงโซล่าเซลล์บนหลังคาบ้าน เพื่อสำรองไฟฟ้าไว้ใช้ในช่วงเวลากลางคืนหรือช่วงเวลาที่ไฟดับ เพิ่มเสถียรภาพความมั่นคงทางไฟฟ้าและช่วยลดภาระรายจ่ายค่าไฟฟ้าต่อเดือน ซึ่งแนวทางที่กล่าวข้างต้นเกิดขึ้นจากการประเมินสภาพแวดล้อมภายในที่เป็นจุดแข็งร่วมกับการประเมินสภาพแวดล้อมภายนอกที่เป็นโอกาส เปรียบเสมือนเป็นกลยุทธ์เชิงรุกที่หากปฏิบัติตามจะประสบความสำเร็จมากที่สุด