การขนส่งสินค้าอันตรายทางถนน บริษัทเจดับเบิ้ลยูดี ทรานสปอร์ต (ประเทศไทย) จำกัด
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทราบถึงศักยภาพการบริหารจัดการสินค้าอันตราย ทางถนน ของบริษัท เจดับเบิ้ลยูดี ทรานสปอร์ต (ประเทศไทย) จำกัด รวมถึงปัญหาและอุปสรรค ในการจัดการสินค้าอันตรายทางถนน และแนวทางในการส่งเสริมความสามารถและศักยภาพด้านการบริหารจัดการความปลอดภัยเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยได้ดำเนินการศึกษาจากเอกสารต่าง ๆ ประกอบไปด้วย แนวคิดทฤษฏีเกี่ยวกับการบริหารจัดการสินค้าอันตรายทางถนน โดยอ้างอิงกฎหมายและข้อกำหนดการขนส่งสินค้าอันตรายทางถนนของประเทศไทย (Thai Provision Volume หรือ TP II) ข้อตกลงร่วมกันว่าด้วยการขนส่งสินค้าอันตรายระหว่างประเทศทางถนนของคณะกรรมมาธิการเศรษฐกิจยุโรปภายใต้สหประชาชาติ (The European Agreement Concerning the International Carriage of Dangerous Goods by Road หรือ ADR) ตลอดจนกฎระเบียบสากลและความเชื่อมโยงกับภูมิภาคและกฎหมายประเทศไทย รวมถึงจากการสังเกตจากการปฏิบัติงานจริงของผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำการเปรียบเทียบการปฏิบัติงานว่าสอดคล้องหรือเป็นไปตามมาตรฐานอย่างแท้จริงหรือไม่ ผลการศึกษา พบว่า บริษัท เจดับเบิ้ลยูดี ทรานสปอร์ต (ประเทศไทย) จำกัด มีการบริหารงานตามข้อกำหนดการขนส่งสินค้าอันตรายทางถนนของประเทศไทย (Thai Provision Volume หรือ TP II) ข้อตกลงร่วมกันว่าด้วยการขนส่งสินค้าอันตรายระหว่างประเทศทางถนนของคณะกรรมมาธิการเศรษฐกิจยุโรปภายใต้สหประชาชาติ (The European Agreement Concerning the International Carriage of Dangerous Goods by Road หรือ ADR) และกฎหมายประเทศไทยที่เกี่ยวข้องกับการจัดการสินค้าอันตรายทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงได้นำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology: IT) มาเป็นแนวทางในการบริหารจัดการสินค้าอันตราย ทางถนน ยิ่งกว่านั้น บริษัท เจดับเบิ้ลยูดี ทรานสปอร์ต (ประเทศไทย) จำกัด ยังได้ประยุกต์ใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในการรับส่งข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าอันตรายของท่าเรือแหลมฉบัง (DG - Net) ให้สามารถเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้หน่วยงานดังกล่าวนำข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าอันตรายไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในด้านต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม การบริหารจัดการสินค้าอันตรายทางถนนดังกล่าวยังคงมีปัญหาบางประการที่ต้องได้รับการแก้ไขและปรับปรุงให้ดีขึ้นโดยการจัดฝึกอบรมให้ความรู้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย อาทิ เช่นฝ่ายปฏิบัติการขนส่งสินค้า ผู้ประกอบการรับเหมาช่วง ผู้ใช้บริการ นำเข้า และส่งออก เป็นต้น ถึงความรู้เกี่ยวกับสินค้าอันตราย กฎระเบียบสากล เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้รับทราบข้อมูลต่าง ๆ รวมถึงพัฒนาระบบ DG - Net ให้สามารถเชื่อมโยงกับระบบต่างๆ ของหน่วยงานภาครัฐด้านการจัดการภัยพิบัติจากสารเคมี เพื่อให้สามารถนำข้อมูลที่จำเป็น เช่น เอกสารข้อมูลความปลอดภัยของสารเคมี SDS และหมายเลขติดต่อผู้เชี่ยวชาญ ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถจัดการกรณีภัยพิบัติจากสารเคมีระหว่างเส้นทางการขนส่งได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงระบบการแจ้งเหตุฉุกเฉินแต่ละระดับ ที่สามารถสื่อสารให้กับประชาชนในเส้นทางขนส่ง รวมถึงหมู่บ้านแหลมฉบัง ซึ่งเป็นชุมชนใกล้เคียงที่ตั้งหน่วยงานให้ได้รับทราบว่าบริษัทเจดับเบิ้ลยูดี ทรานสปอร์ต (ประเทศไทย) จำกัด กำลังประสบภาวะฉุกเฉิน และควรมีทีมงานเพื่อเข้าพื้นที่สื่อสารถึงระดับของเหตุการณ์ร่วมกับทีมงานของหน่วยงานภาครัฐและท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อประชาชนจะได้เตรียมความพร้อมต่อการประกาศอพยพ และไม่ตื่นตระหนก เกิดความปลอดภัย