แนวทางการรายงานผลการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม กรณีโครงการเหมืองแร่
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวทางการรายงานผลการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม กรณีโครงการเหมืองแร่ รวมถึงข้อจำกัด ปัญหา และอุปสรรคที่เกิดขึ้นเพื่อนำไปสู่การเสนอแนะแนวทางในการพัฒนาประสิทธิภาพการรายงานดังกล่าว โดยการศึกษาครั้งนี้ใช้รูปแบบการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยศึกษาข้อมูลปฐมภูมิจากการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) ผู้แทนของหน่วยงานและผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง สำหรับเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลร่วมกับการศึกษาข้อมูลทุติยภูมิจากการศึกษาค้นคว้าเอกสาร อาทิ รายงาน เอกสารทางราชการ ผลงานทางวิชาการ บทความจากวารสาร เวบไซต์ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประกอบกับการวิเคราะห์การดำเนินงานจากสภาพแวดล้อม (SWOT Analysis) ของหน่วยงาน ผลการศึกษา พบว่า การดำเนินงานในปัจจุบันของการรายงานผลการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม กรณีโครงการเหมืองแร่ จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง หลักเกณฑ์ และวิธีการจัดทำรายงานผลการปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดไว้ในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งผู้ดำเนินการหรือผู้ขออนุญาตจะต้องจัดทำเมื่อได้รับอนุญาตให้ดำเนินโครงการหรือกิจการแล้ว พ.ศ. 2561 ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับปรุงกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม คือ พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 โดยสาระสำคัญเป็นการปรับปรุงแก้ไขในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และปรับปรุงหลักเกณฑ์การปฏิบัติให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป และได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ รายละเอียดและวิธีปฏิบัติที่สอดรับกับบทบัญญัติของกฎหมาย ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนต้องยึดถือปฏิบัติ สำหรับข้อจำกัด ปัญหา และอุปสรรค ในการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับระบบการรายงาน พบว่า ภาครัฐ มีบุคลากรผู้ปฏิบัติงานไม่เพียงพอต่อภารกิจที่เพิ่มขึ้นบางหน่วยงานไม่มีบุคลากรที่มีความรู้เฉพาะทางด้านสิ่งแวดล้อม และงบประมาณที่สนับสนุนการดำเนินงานมีจำกัด สำหรับภาคเอกชน พบว่า ส่วนใหญ่มีความพร้อมในการดำเนินงานให้เป็นไปตามที่แนวทางที่กำหนด แต่ก็ยังมีปัญหาและอุปสรรคเนื่องจากบางโครงการตั้งอยู่ในพื้นที่ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ และสำหรับภาคประชาชน พบว่า ไม่ทราบและไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของการดำเนินโครงการเหมืองแร่ โดยเฉพาะข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ชุมชนของตน ดังนั้น จึงมีข้อเสนอแนะในการพัฒนาประสิทธิภาพของการรายงาน เช่น การนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือระบบ IT มาใช้ในระบบการรายงานผลการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น การจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอต่อภารกิจของหน่วยงาน การพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ ความสามารถ มีจิตสำนึกที่ดี ตลอดจนการติดตามข้อมูลข่าวสาร การปรับตัวในการใช้ประโยชน์จากระบบเทคโนโลยี รวมทั้งการเปิดใจและให้ความร่วมมือสนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การกำกับดูแลของหน่วยงานและระบบการรายงานดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น