การประเมินการรายงานผลการปฏิบัติตามมาตรการป้องและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม กรณีศึกษา โครงการประเภทโรงไฟฟ้า
Assessment of the Report of Compliance with Environmental Impact Preventive and Corrective Measures and Environmental Impact Monitoring Measures: A Case Study of Power Plant Project
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวทางการดำเนินงานการรายงานผลการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการประเภทโรงไฟฟ้า รวมถึงปัญหา อุปสรรค และข้อจำกัดที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการเพื่อนำไปสู่การเสนอแนะแนวทางในการพัฒนากระบวนการรายงานฯ ให้มีประสิทธิภาพ ในการศึกษาครั้งนี้ใช้รูปแบบการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยใช้รูปแบบการสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้างหรือแบบมาตรฐาน (Structured or standardized interviews) ผู้แทนของหน่วยงานและผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องสำหรับเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล และวิเคราะห์ข้อมูลร่วมกับการศึกษาข้อมูลทุติยภูมิจากการค้นคว้าเอกสารที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ เอกสารทางราชการ หนังสือทางวิชาการ รายงานประจำปี เวบไซต์ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการวิเคราะห์การดำเนินงานจากสภาพแวดล้อม (SWOT Analysis) ของแต่ละหน่วยงานผลการศึกษาพบว่า การดำเนินงานในปัจจุบันของรายงานผลการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง หลักเกณฑ์ และวิธีการจัดทำรายงานผลการปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดไว้ในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งผู้ดำเนินการหรือผู้ขออนุญาตจะต้องจัดทำเมื่อได้รับอนุญาตให้ดำเนินโครงการหรือกิจการแล้ว พ.ศ. 2561 จากพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 โดยสาระสำคัญเป็นการปรับปรุงและแก้ไขมาตราที่ 46 -51 ซึ่งเกี่ยวข้องกับหลักเกณฑ์การพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และรายงานผลการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งภายหลังจากมีการดำเนินการตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมฯ พ.ศ. 2561 ในส่วนของข้อจำกัด ปัญหา และอุปสรรค ในการดำเนินงานของแต่ละหน่วยงาน โดยหน่วยงานภาครัฐ พบว่า มีปัญหาในด้านบุคลากร และงบประมาณที่ไม่เพียงพอต่อการดำเนินงาน หน่วยงานภาคเอกชน พบว่า มีปัญหาในส่วนของเวลาในการพิจารณา และจัดทำรายงานผลการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม และสำหรับประชาชน พบว่า ไม่ทราบ และไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลของเล่มรายงานผลการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม ในส่วนของข้อเสนอแนะ หน่วยงานภาครัฐควรนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการเผยแพร่ข้อมูล พัฒนาวิธีการรายงานผลการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม หน่วยงานภาคเอกชน ควรพัฒนาระบบการจัดส่งเล่มรายงานฯผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และประชาชน ควรมีการจัดการข้อมูลภายในองค์ การนำข้อมูลมาบูรณาการที่จะสามารถนำข้อมูลต่างๆ เหล่านั้น นำไปใช้ได้กับทุกภาคส่วนได้อย่างมีประสิทธิภาพ