ปัญหาการเรียกค่าเสียหายในคดีสิ่งแวดล้อม ภายใต้พระราชบัญญัตส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 : ศึกษากรณี เรือบรรทุกน้ำตาลทรายดิบล่ม จังหวัดอ่างทอง
การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวคิดและหลักเกณฑ์ของกฎหมายเกี่ยวกับการเรียกค่าเสียหายทางแพ่งในคดีสิ่งแวดล้อม โดยนำกรณีเรือบรรทุกน้ำตาลทรายดิบล่มในแม่น้ำเจ้าพระยา จังหวัดอ่างทอง มาใช้เป็นกรณีศึกษา ซึ่งการศึกษาจะวิเคราะห์พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 รวมถึงกฎหมายต่างประเทศที่เกี่ยวข้อง จากการศึกษาพบว่า ข้อกฎหมายที่ผู้เสียหายใช้ในการเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่ง ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ยังประสบกับปัญหา ได้แก่ การกำหนดค่าเสียหายในคดีสิ่งแวดล้อมยังไม่สามารถเรียกค่าเสียหายให้ครอบคลุมกับผลกระทบที่เกิดขึ้นได้เท่าที่ควรจะเป็น เช่น เรียกร้องค่าเสียหายเฉพาะในส่วนที่แสดงให้เห็นเป็นประจักษ์แล้วเท่านั้น และไม่ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการประเมินความเสียหายไว้เป็นการเฉพาะ ยังพบปัญหาเกี่ยวกับการเรียกร้องค่าเสียหายที่อาจส่งผลกระทบในระยะยาวในอนาคต ซึ่งยังไม่พบว่ามีหลักเกณฑ์ในการประเมินค่าเสียหายที่เกิดขึ้นภายหลังจากวันที่ศาลมีคำพิพากษา รวมถึงการคำนวณมูลค่าความเสียหายอาจไม่สามารถคำนวณจากพยานหลักฐานที่ผู้เสียหายได้รับ เนื่องจากพยานหลักฐานสามารถเปลี่ยนสภาพไปตามกาลเวลา จากประเด็นที่ค้นพบ จึงเสนอแนะให้ออกคู่มือปฏิบัติราชการของตุลาการ เพื่อให้ความรู้และเป็นแนวทางการกำหนดค่าเสียหายแก่ศาลในการพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อมให้มีความเหมาะสม และเพิ่มหลักเกณฑ์ในการรับฟังพยานผู้เชี่ยวชาญเพื่อประเมินผลกระทบและมูลค่าความเสียหายในคดีสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกับการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานอย่างเป็นรูปธรรม